ข้อมูลมีคุณค่า
“ในยุคของข้อมูลและสารสนเทศ มีปริมาณข้อมูลเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จากผู้ใช้ที่มีอยู่ทั่วโลกจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล มีการใช้ศาสตร์ที่เรียกว่าวิทยาการ ข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญและช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจความหมายของข้อมูล และในขณะเดียวกันผู้ใช้จะได้รับความรู้จากข้อมูลที่ผ่านกระบวนการวิทยาการข้อมูลด้วย”
__________________________________________
ยุคของข้อมูลและสารสนเทศ (Information Age)
ในยุคของข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบเดิม ทำให้การนำข้อมูลมาใช้ไม่สะดวก ไม่ทันกาล สูญหายง่าย การจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลและการพัฒนาการของการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศได้ทุกที่ทุกเวลา และในปัจจุบัน เราไม่เป็นเพียงผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างข้อมูลดิจิทัลด้วยเช่นกัน
วิทยาการข้อมูล (Data Science)
การทำงานในลักษณะนี้ ต้องอาศัยความรู้และทักษะผสมผสานศาสตร์หลายด้านเข้าด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า “วิทยาการข้อมูล”
วิทยาการข้อมูล เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ วิธีการ หรือเทคนิค ในการนำข้อมูลจำนวนมหาศาลมาประมวลผล เพื่อให้ได้องค์ความรู้ เข้าใจปรากฏการณ์ ใช้ตีความ ทำนาย พยากรณ์ ค้นหารูปแบบ แนวโน้มจากข้อมูล และสามารถนำมาวิเคราะห์ต่อยอด เพื่อแนะนำทางเลือกที่เหมาะสมไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์มากที่สุด
กระบวนการวิทยาการข้อมูล (Data Science Process)
กระบวนการของวิทยาการข้อมูลประกอบไปด้วย
- การตั้งคำถามที่สงสัย
- การเก็บรวบรวมข้อมูล -โดยคำนึงถึงว่าเก็บข้อมูลเรื่องอะไร จากที่ไหน จำนวนเท่าใด ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล -ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูล กำจัดข้อมูลที่ผิดหรือไม่สมบูรณ์
- การสำรวจข้อมูล -ทำความเข้าใจรูปแบบและค่าของข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูล -อธิบายความหมาย หาความสัมพันธ์ของข้อมูล
- การสื่อสารและทำผลลัพธ์เป็นภาพสู้ผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย -สื่อสารผลลัพธ์ของข้อมูลโดยการถ่ายทอดเป็นเรื่องราวหรือภาพ
การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
การนำข้อมูลผลลัพธ์จากกระบวนการของวิทยาการข้อมูลมาใช้สำหรับสื่อสาร แม้ทำให้เข้าใจปัญหาหรือสถานการณ์มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ จะทำให้ผลลัพธ์ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้จริง เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง ระหว่างทำกระบวนการวิทยาการข้อมูล ต้องอาศัยหลักการพื้นฐานของแนวคิดเชิงออกแบบ
หลักการพื้นฐานของแนวคิดเชิงออกแบบ ประกอบด้วย
- การมองในมุมมองของผู้ใช้ -เอาใจเขามาใส่ใจเรา สร้างความเข้าใจต่อผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง)
- การลองผิดลองถูกและเรียนรู้ผ่านการทดลองกับกลุ่มผู้ใช้จริง -นำสิ่งที่คาดการณ์ไปทดสอบกับผู้ใช้จริง โดยอาจสร้างแบบจำลองตัวอย่างสื่อสารกับผู้ใช้ เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- การทำซ้ำและปรับปรุง -การออกแบบที่ดีมักผ่านกระบวนการปรับปรุงและแก้ไขโดยอาศัยข้อคิดเห็นจากผู้ใช้ ซึ่งในบางครั้งก็เป็นสิ่งนักออกแบบคาดไม่ถึงมาก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น